วันอังคารที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ประวัติกว๊านพะเยา
                                      
                                         ประวัติกว๊านพะเยา


                จากหนังสือเรื่อง “เมืองพะเยา” ซึ่งมีสุจิตต์ วงษ์เทศ เป็นบรรณาธิการ ได้เขียนเกี่ยวกับประวัติ
กว๊านพะเยาไว้พอสรุปได้ดังนี้ คือ ก่อนปี พ.ศ. 2484 ในช่วงฤดูแล้ง กว๊านพะเยาจะมีสภาพเป็นบึงย่อมๆ
 และมี บวก หนอง อยู่รอบ ในฤดูฝนน้ำในกว๊านจึงจะมีมาก ลึกประมาณ 1 ศอก ตอนกลางน้ำลึก 1 วา 3
ศอก ตามบริเวณรอบเป็นป่าไผ่ และไม้กระยาเลย                                                
                ก่อนปี พ.ศ. 2484 จะมีน้ำมากเฉพาะในฤดูฝน คือ ระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงพฤศจิกายนของ
ทุกปี  ปริมาณน้ำจะมีมากที่สุด ทำให้บวกและหนองที่อยู่ติดๆ กัน มีน้ำล้นไหลบรรจบกันเป็นผืนน้ำกว้าง
ใหญ่สองผืน   ผืนแรกเรียกว่า “กว๊านน้อย” อยู่ทางทิศตะวันตกเป็นร่องลำรางน้ำขึ้นไปขาน้ำแม่ตุ่น  และ
เยื้องไปหาชายบ้านสันเวียงใหม่  ตอนที่สองเรียกว่า  “กว๊านหลวง”  อยู่ทางทิศตะวันออก   ใกล้กับลำน้ำ
แม่อิงฝั่งขวา มีร่องผ่านกลางเชื่อมติดกัน  ชาวบ้านเรียกลำรางนี้ว่า “แม่ร่องน้อยห่าง” บริเวณรอบกว๊าน
จะมี บวก  หนอง อยู่รอบๆ กว๊าน และมีลำรางน้ำเชื่อมติดต่อกันตลอดกับแม่น้ำอิง เรียกว่า“ร่องเหี้ย”ไหล
เชื่อมกว๊านหลวงกับแม่น้ำอิง  ร่องน้ำ  หนอง  บวก บริเวณรอบกว๊าน และร่องน้ำที่เป็นแม่น้ำลำธารที่ไหล
มาจากภูเขาเรียกลำห้วยเมื่อพ้นฤดูฝน ปริมาณน้ำจะลดลงเรื่อยๆ  เหลืออยู่แต่ลำคลอง หรือแม่น้ำที่ไหล
ลงสู่กว๊านน้อย กว๊านหลวง  และตามบวก หนอง ร่องน้ำต่างๆ เท่านั้น   ส่วนฝั่งกว๊านทางทิศใต้  และทิศ
เหนือน้ำจะแห้งขอด  ในพื้นที่รอบๆกว๊านจะมีชุมชนและวัด  ตั้งอยู่เป็นจุดๆ  มีระยะทางห่างกันประมาณ
1-2 กิโลเมตร ชาวบ้านสามารถเดินจากชุมชนเหล่านี้เลาะลัดไปตามแนวสันดินเพื่อติดต่อระหว่างชุมชน
ต่างๆ  และเข้าสู่ตัวเมืองพะเยา   ชาวบ้านได้อาศัยน้ำจากหนอง ลำห้วยต่างๆ ในการอุปโภคและบริโภค
การหาปลาจากแหล่งน้ำต่างๆ จากลำห้วย  หนอง และบวกในบริเวณกว๊าน  ในการก่อสร้างทำนบ และ
ประตูระบายน้ำกั้นลำน้ำอิงนั้น กรมประมงได้เล็งเห็นว่า หนองกว๊านในช่วงฤดูแล้งจะแห้งขอด ชาวบ้าน
จึงได้พากันมาจับสัตว์น้ำ โดยไม่มีการควบคุม นอกจากนี้หนองยังมีความตื้นเขินทุกๆ ปี เนื่องจากโคลน
ตมที่ถูกชะล้างมาจากการทำนาในบริเวณรอบๆ กว๊าน ดังนั้นเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ในปี 2482  กรม
ประมงจึงได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างประตูระบายน้ำ  บริเวณด้านตะวันตกเฉียงใต้ของอำเภอเมือง   แล้ว
เสร็จในปี 2484 ทำให้น้ำท่วมไร่นา บ้านเรือน  วัด  โบราณสถาน โบราณวัตถุต่างๆ  เสียหายเป็นจำนวน
หลายพันไร่ หนองน้ำธรรมชาติเปลี่ยนไปเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ มีพื้นที่เฉลี่ย17–18 ตารางกิโลเมตร
หรือประมาณกว่า 12,000 ไร่ 
               หลวงพ่อพระธรรมวิมลโมลี  มีความเห็นว่า “กว๊าน”  คือ “กว้าน”  เพราะกว้านเอาน้ำจากห้วย
หนอง คลอง บึง และแม่น้ำลำธารต่างๆมารวมไว้ในที่แห่งเดียว ในภูมิภาคอื่นๆ เช่นตะวันออกเฉียงเหนือ
ว่า“กว้าน”ความหมายหนึ่ง หมายถึงศาลากลางบ้าน หอประชุมสถานที่เหล่านี้เป็นที่สาธารณประโยชน์
ร่วมกันคำว่า“กว๊าน”  ในชื่อ “กว๊านพะเยา” หมายถึงหนองน้ำ หรือบึงน้ำขนาดใหญ่  คำนี้มีใช้ในท้องถิ่น
ล้านนา เฉพาะที่จังหวัดพะเยาแห่งเดียวเท่านั้น สรุปว่า “กว๊าน” มีความหมายกว้างๆ ว่าเป็นที่รวมศูนย์
ของสิ่งสำคัญของชุมชน และบ้านเมืองอย่างเดียวกับคำว่า “กว๊าน” อันเป็นที่รวบรวมน้ำที่ไหลจากแหล่ง
น้ำต่างๆ  และที่เรียกว่า“กว๊าน”  คือถือตามสำเนียงเสียงพูดของชาวพะเยา
               สถานภาพกว๊านพะเยาในปัจจุบันกว๊านพะเยา อยู่ในเขตอำเภอเมือง  จังหวัดพะเยา เป็นแหล่ง
น้ำขนาดใหญ่ที่สุดของภาคเหนือตอนบน   โดยกว๊านพะเยามีพื้นที่ตามกฎหมายที่ดิน 12,831 ไร่  1 งาน 
 26.6  ตารางวา  หรือประมาณ  20.53  ตารางกิโลเมตร   กว๊านพะเยาตั้งอยู่ในเขตลุ่มน้ำอิง   มีลักษณะ
คล้ายแอ่งกะทะ  โดยมีกว๊านพะเยาเป็นก้นกะทะ  และมีลำน้ำสายต่างๆ จากเทือกเขาผีปันน้ำที่อยู่ทาง
ด้านตะวันตกของจังหวัดพะเยา รวมกับลำน้ำสายต่างๆ ในเขตอำเภอแม่ใจไหลลงสู่กว๊านพะเยา
           
                                                   

                                                     กว๊านพะเยา: บางประเด็นที่น่าสนใจ
๑. การประมงปี  ๒๔๖๖     
           ดร.ฮิว  แมคคอร์มิค  สมิท (H.M Smith) ตำแหน่งที่ปรึกษาแผนกสัตว์น้ำ  พร้อมด้วยเจ้าพระยา
พลเทพเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ และผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายเดินทางไปตรวจกว๊านพะเยา
ระหว่างวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์  ถึง ๕ มีนาคม  ๒๔๖๖  ได้สอบถามข้อมูลอันเกี่ยวด้วยเรื่องหนองบึงกับพืช
พันธุ์ปลาจากเจ้าพนักงาน  และชาวประมงในตำบลแม่ใจ  ตำบลม่วงพาน  และตำบลพะเยา และได้จัด
ทำรายงานต่อท่านเจ้าพระยาพลเทพ เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการดังนี้
           การทำนุบำรุงความเป็นไปเพื่อความเจริญของปลาในแขวงอำเภอพะเยากับหนองหางทราย     
                                                                            ในจังหวัดเชียงราย
                              วันที่ ๑๕  มีนาคม  ๒๔๖๖                                                กรุงเทพฯ
           ขอประทานกราบเรียน ท่านเจ้าพระยาพลเทพ เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ  เนื่องด้วยบัญชา
ของใต้เท้ากรุณา   ข้าพเจ้าได้รับใส่ใจ ในเรื่องที่คิดจะบำรุงพืชพันธุ์ปลา  ที่มีอยู่ตามในหนองแถบบริเวณ
ใกล้พะเยากับแม่ใจ   ซึ่งเรียกกันว่ากว๊านพะเยากับหนองหางทราย  ข้าพเจ้าได้ขึ้นไปตรวจกว๊านพะเยา
พร้อมกับใต้เท้ากรุณา  และผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่  ๒๙  กุมภาพันธ์  และได้ไปตรวจทาง
หนองหางทราย  พร้อมกับผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม  ภายหลังได้ขึ้นไปตรวจซ้ำที่
กว๊านพะเยา  เมื่อวันที่ ๕ มีนาคมอีก ได้สอบถามเอาข้อความอันเกี่ยวด้วยเรื่องหนองบึงกับพืชพันธุ์ปลา
จากเจ้าพนักงาน และชาวประมงในตำบลแม่ใจ   ตำบลม่วงพาน   และตำบลพะเยาด้วย        
          หมายเหตุถึงเรื่องน้ำ  ในระหว่างฤดูหน้าน้ำกว๊านพะเยา  อาจมีระยะทางยาวประมาณ  ๑๕  กิโล              
เมตร์กว้างราว ๑๐ กิโลเมตร์   และลึกระหว่าง ๓.๕  ถึง ๕ เมตร์  คิดเฉลี่ย ๒ เมตร์  หรือกว่า   แต่เวลาที่

ข้าพเจ้าขึ้นไปตรวจนั้น ที่มีน้ำท่วมมีระยะทางยาวประมาณ ๖กิโลเมตร์ กว้าง ๔กิโลเมตร์ น้ำที่ลึกอย่าง
มาก ๑.๓- ๑.๕ เมตร์ หรือประมาณราว ๑ เมตร์  มีลำน้ำเล็กๆ ไหลลงมาสู่ในบึงนี้หลายสาย (เช่น ลำน้ำ
แม่ตุ้ม  แม่สราง  แม่เย็น  แม่เผื่อน  แม่นาหัว  แม่ต๋ำ ฯลฯ  ป็นต้น)   ซึ่งโดยมากไม่มีน้ำในระหว่างฤดูแล้ง 
บึงนี้ติดต่อกับหนองหางทรายริมลำน้ำแม่อิง   แลเป็นชื่อลำน้ำที่ระบายออกจากบึง  ลำน้ำระหว่างบึงทั้ง
สองนี้มีระยะทางยาวประมาณ  ๒๕  กิโลเมตร์   แต่แคบแลตื้นเขิน    ใต้พะเยาลงไปหน่อยหนึ่ง  ลำน้ำที่
กล่าวนี้  ติดต่อกับลำน้ำแม่ต๋ำ   แลไหลลงลำน้ำแม่โขง   ในระหว่างฤดูฝนทางน้ำ   หรือลำน้ำแม่อิงนี้ไม่
สามารถจะรับน้ำไว้ได้ทั้งหมด    เลยไหลบ่าข้ามคันไปในเมืองพะเยา  ในบึงนี้น้ำไม่แห้ง แต่อาจจะลงต่ำ
กว่าระดับของวันที่ ๒๙กุมภาพันธ์ และอาจจะหยุดไม่ไหลลงไปในลำน้ำแม่อิงมีผักหญ้าขึ้นอยู่มากมาย
ในเขตต์และรอบบริเวณฝั่งของบึงนี้  และมีผักตบชะวาขึ้นอยู่บริบูรณ์    ซึ่งปรากฏว่าได้เกิดมีขึ้นเมื่อสอง
สามปีมานี่เอง ในขณะที่ใต้เท้ากรุณาขึ้นไปตรวจนั้น  ในลำน้ำตอนอยู่ใกล้บึง มีผักตบชะวาอยู่หนาแน่น   
หนองหางทราย ตั้งอยู่เหนือกว๊านพะเยาไปประมาณ  ๒๐ กิโลเมตร์    และมีสภาพเหมือนกับบึงพะเยา
ทางที่น้ำระบายเข้าออกได้นั้นแคบ แลเมื่อวันที่ ๑ มีนาคมไม่มีไหลออกเลย บึงนี้นับวันแต่จะตื้นเขินทุกที
ด้วยโคลนตมที่ไหลมาจากท้องนาในบริเวณรอบ ๆ นั้น                                               
           พืชพันธุ์ปลาที่มีอยู่ในบึง  ได้รวบรวมและตรวจสอบพันธุ์ปลาต่างๆ ได้สามสิบสองชะนิด  ถึงแม้ว่า
บึงเหล่านี้จะอยู่ในวงการระบายน้ำของลำน้ำแม่โขงก็ดี แต่พืชพันธุ์ปลาที่มีอยู่นั้นคล้ายคลึง แลโดยมาก
มีรูปพรรณสัณฐานเหมือนกับปลาในแถบของลำน้ำเจ้าพระยาคือ  มีพวกปลาช่อน ในท้องถิ่นนั้นเรียกว่า
ปลาลืม  ปลาหมอ (เรียกว่าปลาเสด็จ) ปลากะดี่ (เรียกว่าปลาสลัก) ปลาตะเพียนขาว (เรียกว่าปลาปีก) 
ปลาดาบลาว ปลาเพี้ย หรือปลากา ปลาข้างลาย ปลาสร้อย ปลาซิว ปลาม้าเอา ปลาหางแดง ปลาแปบ 
ปลาเกล็ดถี่ ปลาฉลาด (ในพื้นที่เรียกว่าปลาทอง) ปลาดุกดำ ปลาเนื้ออ่อน ปลาแขยง ปลาไหล(ในพื้นที่
เรียกว่าปลาลิด)ปลาที่สำคัญเยี่ยมก็คือปลาช่อนกับปลาดุก ปลาชนิดอื่นที่อุดมแลจับกันโดยกว้างขวาง
มีพวกปลาหมอ ปลากะดี่ ปลาตะเพียน ปลาข้างลาย ปลาเกล็ดถี่ ปลาซิว กับปลาสร้อย ปลาบางชะนิด
คงอาศัยประจำที่อยู่ในบึง  แต่บางชะนิดปรากฏว่าเป็นปลามาจากที่อื่น ได้ทราบว่ามาจากแม่น้ำโขง ใน
ต้นฤดูฝนแล้วมาฟักฟองอยู่ในบึงเหล่านี้  การจับปลาในบึง บึงเหล่านี้เป็นทำเลอันสำคัญ  ซึ่งเป็นบ่อเกิด
แห่งอาหารปลาสำหรับเลี้ยงราษฎรพื้นเมืองมานานแล้วกล่าวกันว่ากว๊านพะเยาเป็นทำเลของสุภาพชน
หมู่หนึ่งที่ได้ถือสิทธิ์ในการจับปลาซึ่งได้รับมรดกกันมาจากบรรพบุรุษต่อๆ กันลงมา แลถือเป็นผู้ปกครอง
การจับสัตว์น้ำในที่นี้แห่งครั้งกระโน้นมาแล้ว  แต่บัดนี้ใคร ๆ ก็ลงทำการจับปลาได้หามีการหวงห้ามหรือ
ค่าธรรมเนียมที่ต้องเสียอย่างใดไม่ได้ทราบว่ารัฐบาลได้เคยดำริออกข้อบังคับจัดการหวงห้ามการสัตว์น้ำ
ในบางส่วนบางตอนของบึงมาคราวหนึ่ง แต่การหวงห้ามนั้นหาได้รับผลไม่ เวลานี้ไม่มีการใช้กฎข้อบังคับ
อันใด  ซึ่งเกี่ยวกับการจับสัตว์น้ำนั้นเลย   ตามหลักฐานพยานที่ทราบจากราษฎรพื้นเมืองนั้น  ปรากฏว่า
ความบริบูรณ์ของปลาในแถบนั้นได้ลดน้อยถอยลงกว่าแต่ก่อน  ทั้งนี้กล่าวกันว่าเพราะความตื้นเขินของ
บึงได้ทวีขึ้น  อันเป็นเหตุให้จับสัตว์น้ำได้สะดวก แลจับกันหนาแน่นขึ้น  เพราะฉะนั้นเมื่อถึงปลายฤดูกาล
ปลาจึงไม่มีเหลือที่จะเพาะพืชพันธุ์ อยู่ในพื้นน้ำได้ตามควร    การที่บึงชักตื้นเขินขึ้น ก็เพราะพื้นที่นารอบ
บริเวณบึงนั้นได้ชะเอาโคลนตมมาลงสู่นั่นเองได้รับรายงานจากข้าราชการว่ามีราษฎรลงทำการจับปลา
ในกว๊านพะเยาทุกวัน ในระหว่างฤดูหน้าแล้งมีจำนวนไม่ต่ำกว่าสองสามร้อยคนได้ใช้เครื่องมือชนิดที่ใช้
ถือด้วยมือทุกประเภท  บางพวกก็เป็นราษฎรในพื้นเมืองพะเยานั้นเอง  บางพวกก็มาจากที่ห่างไกลออก
ไปและมาแรมคืนตามฝั่งของบึงในระหว่างฤดูหน้าแล้ง และได้จับปลากันอยู่เป็นเนืองนิตย์ บางพวกก็ไป
ขายอาหารและสินค้าอื่น ๆ ให้แก่พวกที่จับปลาเหล่านี้เป็นทางอาชีพ                  
           นายอำเภอตำบลม่วงพานคนก่อนเป็นคนชราแล้ว  ซึ่งบัดนี้ได้ถูกปลดออกจากหน้าที่ประจำการได้
รายงานว่าความบริบูรณ์ของปลาในหนองหางทรายบัดนี้ได้ลดน้อยลง เพราะเหตุผลดังกล่าวมาแล้วเมื่อ
คราวที่ข้าพเจ้าขึ้นไปตรวจการที่บึงเมื่อวันที่ ๑มีนาคม ได้เห็นพวกราษฎรพากันไปจับปลาช่อน ปลาดุก ที่
ในแถบใกล้กับทางระบายน้ำออก และได้รับรายงานปลาทุกๆ ชนิดคงหายากตามๆกันไม่ต้องสงสัยหนอง
หางทรายนี้  คงจะได้รับความกระทบกระเทือน   เนื่องจากเหตุแห่งการจับปลาที่กระทำกันอยู่ทุกวันยิ่งไป
กว่าทางกว๊านพะเยา    ในบึงนี้ไม่ใคร่จะมีปลาที่เข้ามาจากลำแม่น้ำโขงกี่มากน้อย     ชาวประมงคนหนึ่ง
กล่าวว่าได้มีราษฎรลงเฝือกขวางลำน้ำแม่อิงตอนใกล้บึงถึงสองเครื่อง   
           อาจจะรักษาและทำนุบำรุงปริมาณปลาให้ดีขึ้นได้  เหตุเพราะความตื้นเขินของบึงจึงจับปลาได้ง่าย
และสะดวกขึ้นกว่าแต่ก่อน และอันตรายน่าจะบังเกิดขึ้นเนื่องจากมีการจับปลามากขึ้นยิ่งกว่าที่ธรรมชาติ
จะอำนวยให้บังเกิดขึ้นทดแทนได้ทันในขวบรอบปีหนึ่งๆ กับเมื่อพิจารณาถึงข้อที่ขาดการหวงห้าม เพื่อป้อง
กันพืชพันธุ์ปลาในบึงแลการที่ปล่อยให้ทำลายพืชพันธุ์ปลาที่ยังไม่โตได้ขนาดเป็นต้นด้วยแล้ว
            ทางที่ควรทำได้คือ   โดยกั้นทำนบลงในแม่น้ำอิงตอนใกล้ทางที่จะระบายน้ำออกจากบึงตรงที่ๆ ใต้
เท้ากรุณาได้ไปตรวจเมื่อวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์  อันเป็นตอนที่ลำน้ำมีขนาดกว้างเพียง ๑๘ เมตร์  และตลิ่ง
ของลำน้ำสูงประมาณ เพียง ๑ เมตร์ซึ่งน่าสามารถที่จะรักษาระดับน้ำของกว๊านพะเยาได้ ในระหว่างฤดู
แล้งให้มีระดับสูงขึ้นอีก อย่างน้อย ๑ เมตร์การทั้งนี้จะเป็นคุณประโยชน์แก่การบำรุงพืชพันธุ์ปลาในบึงแล
ทางหนองหางทรายนั้นด้วย  ถ้ามีที่ ที่ตลิ่งของลำน้ำแม่อิงมีระดับสูงขึ้น   แลเป็นที่ที่เหมาะแก่การที่จะก่อ
สร้างทำนบขึ้นไว้  เพื่อรักษาระดับน้ำของบึงให้คงมีระดับสูงกว่าเวลาหน้าแล้งเวลานี้สัก ๑.๕ ถึง ๒ เมตร์ 
ได้แล้ว  ก็ควรจะเลือกเอาทำเลที่นั้นเป็นที่ที่จะก่อสร้างทำนบ
            ได้ทราบมาจากหลายทางว่า พวกชาวประมงบางคนจะคัดค้านต่อการกระทำที่จะให้น้ำในบริเวณ
บึงเหล่านี้คงมีระดับสูงขึ้นในระหว่างฤดูหน้าแล้ง    เพราะเหตุว่าจะทำให้การจับปลาของพวกเขาเหล่านี้
สะดวกน้อยลง   แต่เชื่อว่าข้อคัดค้านของหมู่ชนจำพวกที่คิดเอาแต่จะได้เพียงสองสามคนนั้น        คงไม่มี
น้ำหนักพอที่จะลบล้างความสุขความเจริญอันมั่นคงของชนทั้งตำบลได้
           ความเห็นแนะนำ เมื่อพิจารณาตามข้อความดังได้กราบเรียนมาแล้วนี้ความประสงค์ที่ต้องการจะ
บำรุงความเป็นอยู่ของสัตว์น้ำในกว๊านพะเยาหนองหางทรายกับตามลำน้ำที่เชื่อมติดต่อกับบริเวณเหล่า
นี้ ซึ่งจะดำเนินไปได้ด้วยการกระทำ  โดยค่าใช้จ่ายเล็กน้อยแล้วก็น่าจะกระทำได้  ข้อสำคัญที่จะกระทำ
ควรจะกระทำ  คือสร้างทำนบขึ้นแห่งหนึ่ง  เป็นบานประตูทำนบชะนิดที่ปิดที่เปิดได้กั้นลำน้ำแม่อิงไว้ทาง
ตอนใต้กว๊านพะเยาลงมา  เพื่อกักเอาน้ำในบึงแลบริเวณหนองหางทรายนั้นไว้ให้มีระดับสูงที่สุดที่จะกัก
ไว้ได้ในฤดูหน้าแล้ง
           การบำรุงทั้งนี้ควรกระทำไปพร้อมกับการย้ายถอนสิ่งที่ขัดขวางทั้งหมดอันมีอยู่ในลำน้ำแม่อิง  ใน
เมื่อเสร็จจากการทำนาของราษฎรแล้ว  สิ่งขัดขวางที่ไม่จำเป็นแก่การทำนาแล้ว ข้อบังคับในการจับปลา
ที่ควรประกาศให้ใช้ควรจะให้มีข้อความเหล่านี้รวมอยู่ด้วย
           (๑.) ห้ามการใช้อวนมองต่างๆ และเครื่องมือจับปลาชนิดใดๆ ที่มิได้ใช้ด้วยมือและกระทำด้วยแรง
คน ๆ เดียว  ตลอดจนเครื่องมือประจำที่และเครื่องมือกางกั้น กับการจับปลาในทางผูกขาดลงทำการจับ
ปลาในบึงและบริเวณที่ติดต่อกับลำน้ำแม่อิงตอนระหว่างบึงกับตอนใต้กว๊านพะเยา
           (๒.) ห้ามการใช้เครื่องมือใดๆ ที่มีตาเล็กเกินกว่า ๑ ซม.  ตารางเหลี่ยม หรือเครื่องมือจักสานใด ๆ
ที่มีช่องห่างน้อยกว่า ๑ ซม.  ลงทำการจับปลา
                                                                                                            ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
                                                                                                                  (ลงนาม) ฮ.ม. สมิท
                                                                                                               ที่ปรึกษาแผนกสัตว์น้ำ

       

๒. การประมงปี ๒๔๘๒
             หลวงมัศยจิตรการ  ผู้แทนการประมงเดินทางไปตรวจกว๊านพะเยาเมื่อวันที่ ๘-๑๑ พฤศจิกายน 
๒๔๘๒ และรายงานเสนอต่อหัวหน้ากองการประมงดังนี้คำสั่งให้ข้าพเจ้าไปตรวจราชการที่กว๊านพะเยา
จังหวัดเชียงราย  ในความหมายเพื่อพิจารณาถึงวิธีการดำเนินงานปรับปรุงกว๊านพะเยาให้มีสภาพดียิ่ง
ขึ้น สมเป็นสถานที่เพาะ และเลี้ยงพันธุ์สัตว์น้ำให้มีปริมาณมากและแพร่หลายนั้น  และทั้งในเวลาเดียว
กันเพื่อเลือกหาสถานที่ที่เหมาะแก่จะทำการปลูกสร้างที่พัก และที่ทำงานเพื่อจะดำเนินงานเรื่องนี้ ฉะนั้น
ข้าพเจ้าได้ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ  ไปยังกว๊านพะเยา   เพื่อทำการสำรวจสถานที่ต่างๆ  รวมเวลาไป
ราชการ ๑๑ วัน    ข้าพเจ้าขอเสนอรายการดังต่อไปนี้
. สภาพของกว๊านพะเยาในปัจจุบัน

             กว๊านพะเยาอยู่ทางทิศเหนือของประเทศไทย  และเป็นหนองน้ำที่ใหญ่ หรืออีกนัยหนึ่งเรียกกันว่า
บึงก็ได้  อยู่ระหว่างทางการคมนาคมระหว่างจังหวัดเชียงรายกับจังหวัดลำปาง
             กลางกว๊านมีลำแม่น้ำเรียกกันว่าแม่น้ำอิงไหลผ่าน เป็นที่ระบายน้ำของกว๊านพะเยา นอกจากนั้น
ยังมีลำห้วยอีกหลายห้วยเป็นทางน้ำไหลเข้าบึงในฤดูฝน  เช่น  ห้วยฮองไฮ   ห้วยแม่ต๋ำ   และห้วยแม่ไสล 
กว๊านพะเยามีน้ำตลอดปีแต่ไม่มากส่วนมากของกว๊านมีน้ำอยู่เล็กน้อยและเป็นที่ตื้นเขิน กอบไปด้วยหญ้า
สูงหลายชะนิด  และมีผักตบชวา  กระจับ  บัว  สาหร่ายหลายพันธุ์ ฤดูแล้งบางตอนเห็นตลิ่งได้ถนัด  และ
มีดอนอยู่กลางกว๊านเป็นแห่ง ๆ
. เขตต์   ด้านตะวันตกของกว๊านจดนาของราษฎรเป็นส่วนมาก    ด้านเหนือใต้ติดหมู่บ้าน  และนาของ
ราษฎรบ้างเล็กน้อย ด้านตะวันออกติดหมู่บ้านของราษฎร และติดถนนสายลำปาง–เชียงราย เขตต์เท่าที่
สำรวจแล้วมีพื้นน้ำ ๑๕,๖๗๕  ไร่  ในระดับ  +๓๙๑  แต่ฤดูน้ำลดจะมีระดับ –๓๙๐   คือน้ำลดลง  ๑ เมตร์ 
จะมีเนื้อที่น้ำเพียง๑๐,๖๐๗ไร่ ตามความมุ่งหมายที่จะกักน้ำไว้ทั้งนี้ตามทางคำนวณของกรมชลประทาน
. น้ำ    ในเวลาที่ทำการสำรวจวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ศกนี้  น้ำในกว๊านมีน้อยเต็มที  กล่าวคือ  ได้หยั่งดู
ระดับทั่วๆ ไปแล้ว มีน้ำประมาณ ๑เมตร์ บางตอนทางด้านตะวันตกของกว๊านมีความลึกเพียง๓๐-๔๐ซม. 
 แต่ที่ท้องกว๊านจะวัดได้ในราว  ๑.๕๐ ถึง  ๒.๐๐ เมตร์   เป็นอย่างมากเฉพาะในแอ่งลึก ๆ
           ฤดูที่น้ำมากที่สุดจะมีความลึกราว ๔.๐๐ เมตร์  แต่ในฤดูแล้งจะลดลงมากเพียง ๑.๐๐ เมตร์  เป็น
อย่างมาก  กระแสน้ำไหลเชี่ยวในฤดูน้ำมาก  และไหลออกทางลำน้ำแม่อิง  ฤดูแล้งไม่มีกระแสน้ำก็ว่าได้
เพราะน้ำไหลออกลำน้ำแม่อิงได้น้อย  ประกอบด้วยผักตบชะวาได้ไหลเข้าไปอัดกันอยู่ในลำน้ำแม่อิงด้วย
 น้ำในกว๊านค่อนข้างขุ่น และมีสีแดงบ้างเล็กน้อยเป็นแห่ง ๆ
๔. สิ่งที่เกิดในกว๊าน            
         ก.  ผักตบชะวามีมากประมาณ ๑ ใน ๓ ของพื้นที่น้ำในกว๊าน   ผักตบชะวาไม่อยู่เป็นที่ทางและมัก
จะอยู่เป็นแห่งๆ ที่กระจัดกระจายอยู่มีน้อย ติดค้างอยู่ตามริมกว๊านก็มีมาก เวลามีลมจัดและน้ำในกว๊าน
มาก ลมมักจะพัดผักตบชะวาใหญ่ๆ ย้ายที่ไปได้ไกลๆ และไปติดรวมกันเป็นแห่งๆ ผักตบชวาในกว๊านนั้น
แสดงว่ามีมานาน ต้นจึงงามใหญ่ และสูงใหญ่  ผักตบชวาไม่มีประโยชน์อย่างใด  นอกจากจะเป็นที่อาศัย
ของปลา
         ข. หญ้าต่างๆ ในกว๊านพะเยามีหญ้าหลายชนิด เช่นหญ้าปล้อง หญ้าเค้านกขึ้นอยู่ทั่วไปถ้าในฤดู
แล้งน้ำลดลงต้นหญ้าจะขึ้นงาม และเป็นกอสูง ๆ   โดยมีมากอยู่ทางด้านใต้
         ค. แหน สาหร่าย บัว และกระจับ  แหนมีบ้างเล็กน้อยเป็นบางตอน  สาหร่ายมีมากทางด้านเหนือ
ของบึง  มีอยู่ ๓ พื้นเมืองเรียกกันว่าสาหร่ายนุ้ย  ต้นและใบยาวเล็กเป็นฝอย ๆ สาหร่ายเกียต้นยาวใบโต
กว่าและสาหร่ายหางม้า  สาหร่ายมีมากในกว๊านและซื้อขายกัน  ส่วนกระจับมีไม่มาก
ปลา  มีหลายชะนิด   ปลาน้ำจืดธรรมดาส่วนมากมีในกว๊าน   เช่น  ปลาหมอ   ปลาช่อน   ปลาเค้า  
ปลาสร้อย   ปลากด   ปลาดุก   ปลาไหล   ปลาปีก (ตะเพียน)   ปลาปักเป้า   ปลาชิด (ปลาสร้อยเล็ก) 
ปลาตอง (ปลากราย)  ปลาสลิด  ปลากระดี่  ปลาแขยง  ปลาซิว  และปลาท้องพลุ      ปลาต่าง ๆ เหล่านี้ 
เท่าที่สังเกตจำนวนน้อยมาก และตัวเล็กๆ เป็นลูกปลาเกือบทั้งสิ้น  ปลาที่อยู่ในวัยสืบพันธุ์ได้นั้นพบน้อย
ที่สุด  ราษฎรจับปลาด้วยวิธีใช้สวิง หรือยอเล็กช้อนไปใต้กอผักตบชะวาที่ปลาอาศัยอยู่  แล้วรื้อผักตบนั้น
ออก ช้อนลูกปลาขึ้นใส่เรือ  ฤดูแล้งใช้วิดหนองหรือแอ่งน้ำตามบริเวณกว๊านทั่วไปเท่าที่สังเกตปลามีน้อย
มากไม่พอความต้องการของราษฎร  เช่นลูกปลากระดี่แห้งก็มีราคาแพงกว่าในตลาดกรุงเทพฯ     สินค้า
ปลาไม่มีเลย  นอกจากขายกันพอเลี้ยงชีพไปบ้างเล็กน้อยเท่านั้น           
ความคิดเห็น        
           เนื่องจากกองการประมงได้รับงบประมาณให้ทำการก่อสร้างปรับปรุงกว๊านพะเยา ทำระบาย และ
ฝายคันกั้นน้ำ รวมทั้งที่พักและที่ทำการของเจ้าหน้าที่นั้น  ข้าพเจ้าได้ไปทำการสำรวจที่ทั่วๆไป  ส่วนของ
กองการประมงที่จะทำการก่อสร้างนั้น   ข้าพเจ้าเลือกได้ที่เนินแห่งหนึ่งอยู่ใกล้วัดจอมคำเรือง  ติดต่อกับ
แนวสะพานข้ามแม่น้ำอิง  เป็นบริเวณไม่ไกลจากหมู่บ้าน  การไปมาติดต่อได้สะดวก เป็นสถานที่งดงาม
มีต้นไม้ใหญ่ ๆ หลายต้น  ส่วนสถานที่พักควรอยู่บนเนิน  ทำให้มองเห็นจากสะพานข้ามคลอง  นอกจาก
สถานที่นี้แล้วไม่เห็นที่ตรงไหนจะดีกว่า เพราะเป็นที่ที่น้ำท่วมไม่ถึง จึงเห็นว่าเหมาะแก่การงานอยู่หลาย
ประการ           
วิธีดำเนินการ           
           ๑. ในชั้นต้นควรดำเนินงานทำการรังวัดเขตต์ให้แน่นอนเสียก่อนว่าจะเอาเพียงใด  เท่าใด เฉพาะ
แต่เขตต์ที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น   เพราะเกรงว่าเมื่อเป็นที่ของราษฎรก็เสียค่าชดเชยมาก    เมื่อได้ทำการ
สำรวจแล้วจึงจัดการเวนคืนภายหลังตามนัยแห่งพระราชกฤษฎีกา        
           ๒. เมื่อเข้าทำการก่อสร้างได้ในที่ของราษฎร จัดการดำเนินสร้างที่พักที่ทำการและบ่อปลาทีเดียว     
           ๓. ที่ที่ใช้ในการก่อสร้างของกองการประมงนั้น    ติดที่ของราษฎรอยู่บ้างหลายราย    แต่คงเจรจา
ตกลงกันได้           
           ๔. ในเดือนมกราคมนี้   เมื่อตกเบิกเงินงบประมาณแล้ว  สมควรให้นายเล็ก  แตงหนู   ขึ้นไปกว๊าน
พะเยาก่อน   พร้อมด้วยนายประยูร เวชพงศ์    เพื่อดำเนินงานเก็บผักตบชะวา    และทำการสร้างที่พัก
ในการคุมงานก่อสร้าง  ข้าพเจ้าได้ทำงานติดต่อกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองไว้แล้ว   คงไม่ขัดข้องอย่างไร 
เมื่อการก่อสร้างเสร็จ   ก็จะได้ดำเนินการสร้างบ่อปลา  และเลี้ยงพันธุ์ปลาบางชะนิดไปเสียทีเดียว    จึง
เสนอมาเพื่อทราบตามแผนการ           
การกำจัดผักตบชะวา  ทำการเก็บหลายวิธีคือ
           ๑. กำจัดผักที่ค้างอยู่ในเวลาน้ำในบึงลดโดยวิธีการเผา
           ๒. เก็บใส่ที่คอกหรือทับถมให้เน่า
           ๓. โดยวิธีปล่อยผักออกจากบึงในฤดูน้ำมาก  แต่คงไม่ถนัด เพราะทางออกแคบ  และเมื่อออกไปก็
มักไปติดตามคลองทำให้ทางออกยากเข้าอีก
การบำรุงพันธุ์ปลา
        สร้างบ่อทดลองเลี้ยงปลาตัวอย่าง พักไข่ปลาและเลี้ยงลูกปลาเพื่อการแจกแก่ผู้ประสงค์จะทำการ
เพาะเลี้ยงบ้างเมื่อเพาะเลี้ยงได้จำนวนมากก็จะได้ปล่อยลงกว๊าน และทำสถิติในวาระที่กฤษฎีกาเวนคืน
ยังไม่ตก งานนี้จะต้องรีบเร่งดำเนินงานให้ทันกาล จึงเห็นควรร่วมมือกับข้าหลวงประจำจังหวัดและนาย
อำเภอขอซื้อที่ดินราษฎรเฉพาะแต่ที่ที่ต้องการจริง ๆ เสียก่อน    เพื่อจะได้ลงมือทำการก่อสร้าง     ฉะนั้น
ข้าพเจ้าจึงเสนอมาเพื่อทราบ และขณะเดียวกันได้มีบันทึกความทรงจำของ  นายเอี้ยง  เงารังษี  หัวหน้า
สถานีประมงน้ำจืดพะเยา คนที่ ๓  ซึ่งได้บันทึกไว้เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2545 ได้ย้ำถึงความชัดเจน เรื่อง
ของการสร้างสถานีประมงน้ำจืดดังนี้   
            “ข้าพเจ้าขอบันทึกข้อความสั้น ๆ  ที่ถือว่าเป็นสาระสำคัญในการริเริ่มงานโดยสังเขป ดังนี้ คือ”
๑. ในปี พ.ศ. ๒๔๘๒    ข้าพเจ้าได้ถูกส่งมาทำงานที่อำเภอพะเยา (ในขณะนั้น) จังหวัดเชียงราย  พร้อม
กับหัวหน้าคนงาน  งานที่ข้าพเจ้าได้รับมอบหมายให้ดำเนินการ คือการสร้างแหล่งน้ำให้กับพะเยา  ซึ่ง
ข้าพเจ้าได้ริเริ่มปฏิบัติโดยลำดับ  คือ
           ๑.๑  กำจัดสิ่งวัชพืชต่าง ๆ  ในตัวกว๊าน   ข้าพเจ้าได้เริ่มงานกำจัดสิ่งรกต่าง ๆ    โดยใช้คนงานถึง 
๑๐๐  คน  เนื่องจากเป็นภารกิจรีบเร่ง จะต้องรีบดำเนินการให้แล้วเสร็จ  เพราะจะต้องรีบสร้างประตูปิด
เปิดกักน้ำต่อไป
           ๑.๒  ดำเนินการวิ่งเต้นจัดหาที่ดิน  เพื่อก่อสร้างประตูระบายน้ำ และขอซื้อจากเจ้าของที่ดินซึ่งได้
จับจองอยู่มาก่อน
           ๑.๓  เดินสำรวจจัดทำแผนที่แสดงอาณาเขตของกว๊าน เพราะรอบ ๆ บริเวณดังกล่าวเป็นป่ารกมี
เจ้าของถือกรรมสิทธิ์ครอบครองอยู่แล้วทั้งสิ้น   ต้องทำการเจราจาต่อรองซื้อขายกัน              
๒. ในปี พ.ศ. ๒๔๘๓ งานได้ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยได้กั้นเขต และกักน้ำไว้ประมาณ ๑๐,๖๐๐ ไร่
นอกจากนี้ยังมีส่วนที่ดินที่จะสร้างประตูระบายน้ำ  และสามารถขุดบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้   และได้ทำ
การก่อสร้างบ้านพักเจ้าหน้าที่ ชั้นหัวหน้า ๑ หลัง ที่ทำการของสถานี ๑ หลัง ซึ่งอาคารทั้ง ๒ ก็ยังปรากฏ
ให้เห็นจนตราบเท่าทุกวันนี้               
๓. ในปีพ.ศ.๒๔๘๔ได้มีพิธีเปิดสถานีประมงอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ข้าพเจ้ากับหัวหน้า
คนงานอยู่ปฏิบัติงานที่สถานีต่อไปจนถึงวันที่  ๔  ธันวาคม  ๒๔๘๔ 
๔. ในปีพ.ศ. ๒๔๘๖ ทางกรมประมงได้ส่ง นายสวัสดิ์  เทียมเมฆ  มาดำรงตำแหน่งหัวหน้าสถานีประมง
กว๊านพะเยา ระดับชั้นโท โดยมีข้าพเจ้าดำรงตำแหน่งผู้ช่วยระดับชั้นตรี ต่อมาเมื่อนายสวัสดิ์ย้ายไปก็มี 
นายประสิทธิ์ กาญจนดุลย์ ย้ายมาแทน ข้าพเจ้าได้ร่วมงานในฐานะผู้ช่วยของหัวหน้าทั้ง ๒ คนดังกล่าว 
จนถึงปี พ.ศ.  ๒๔๙๐     ข้าพเจ้าก็ได้ย้ายไปเป็นประมงจังหวัดที่ประจวบคีรีขันธ์   ภารกิจการสร้างงานที่
กว๊านพะเยาของข้าพเจ้าเป็นระยะเวลา  ๙  ปีก็สิ้นสุดลง
กว๊านพะเยาได้ขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุ แปลงเลขที่ พย.7
          โดยมีประวัติการได้มาตามประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่เวนคืนในท้องที่
อำเภอพะเยา  จังหวัดเชียงราย พ.ศ. 2482   เพื่อใช้ในราชการกระทรวงเกษตราธิการ (กระทรวงเกษตร
และสหกรณ์ปัจจุบัน)   ในการบำรุงพันธุ์สัตว์น้ำกว๊านพะเยา   และซื้อด้วยงบประมาณแผ่นดินบางส่วน
           สำหรับเนื้อที่ของกว๊านพะเยาที่สำนักงานที่ดินออกให้ในปี พ.ศ.2540 ตามหนังสือสำคัญสำหรับที่
หลวงเลขที่ พย.0149  มีเนื้อที่ 12,831-1-26.60 ไร่  ซึ่งจำนวนเนื้อที่ดังกล่าวยังไม่ใช่จำนวนเนื้อที่จริงของ
กว๊านพะเยาทั้งหมด      เนื่องจากในการรังวัดออกหนังสือสำคัญ  สำหรับที่หลวงที่ยื่นต่อสำนักงานที่ดิน
จังหวัดพะเยาในปี พ.ศ. 2529 นั้น   เป็นการรังวัดปักหลักเขตออกหนังสือสำคัญในส่วนที่ราษฎรคัดค้าน
เท่านั้น   โดยในส่วนที่มีราษฎรคัดค้านอยู้ด้านทิศเหนือของหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเลขที่ พย.0149
บริเวณตั้งแต่สะพานขุนเดชขึ้นไป เนื้อที่ประมาณ 800 กว่าไร่  ยังไม่ได้รังวัดออกหนังสือสำคัญสำหรับที่
หลวง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการตรวจสอบหลักฐานการบุกรุกของราษฎรที่ออกเอกสารที่ดิน
ทับที่ราชพัสดุว่ามีจำนวนกี่ราย เนื้อที่เท่าใด
การควบคุม ระดับน้ำในกว๊านพะเยา
การเก็บกักน้ำในกว๊านพะเยา    
          เริ่มดำเนินการเก็บน้ำมาตั้งแต่การก่อสร้างทำนบ  และประตูน้ำกั้นแม่น้ำอิงบริเวณส่วนที่ไหลออก
จากที่ลุ่มต่ำทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ของบวกและหนองทั้งหลาย(สถานีประมงน้ำจืดจังหวัดพะเยาใน
ปัจจุบัน)  เสร็จเมื่อปี 2484 โดยประตูน้ำมีขนาด 4.28 x 4.50 เมตร จำนวน 1 บาน ในช่วงแรกที่เก็บน้ำยัง
ไม่ได้มีการบันทึกระดับน้ำไว้ เพิ่งจะมาเก็บข้อมูลระดับน้ำจากไม้วัดระดับน้ำบริเวณประตูน้ำเมื่อปี 2527
จนถึงปี 2532   ต่อจากนั้นต้องระบายน้ำออกจากกว๊านพะเยา   เพื่อก่อสร้างประตูระบายน้ำขึ้นใหม่เป็น
ประตูแบบ 2 บาน ขนาด 5.0 x 5.0 เมตร เริ่มเก็บน้ำครั้งใหม่ตั้งแต่ปี 2536
          เมื่อมีน้ำมากขึ้น  การประปาส่วนภูมิภาคจึงได้เริ่มก่อสร้างระบบประปาขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2500 และเริ่ม
ให้บริการแก่ประชาชน  ตั้งแต่  พ.ศ. 2501  เป็นต้นมา       จากหนองน้ำย่อย ๆ จำนวนมาก      กลายเป็น
“กว๊านพะเยา”    อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่  ด้วยจุดประสงค์หลัก  2 ประการสำคัญของการสร้างเขื่อนกั้น
แม่น้ำอิงในตอนแรก    คือ ขังปลา   และขังน้ำเพื่อการบริโภค            ต่อมามีการนำไปใช้ประโยชน์อย่าง
หลากหลาย    ทั้งหน่วยงานของรัฐ  และชุมชนโดยรอบ       เพราะได้ใช้น้ำกว๊านในการอุปโภค   บริโภค
การเกษตร    การประมง    การประปา     รวมทั้งกว๊านยังเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ     แหล่งท่องเที่ยว
ธรรมชาติ นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดของกรมประมงอีกด้วย

                      


                                        

                                           อ้างอิง

http://www.fisheries.go.th/if-phayao/web2/index.php?option=com_content&view=article&id=42&Itemid=52

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น